‘การบินไทย’ เคาท์ดาวน์เลิกฟื้นฟู จับตา ‘คลัง’ ชิงบอร์ด 4 ตำแหน่ง

‘การบินไทย’ เคาท์ดาวน์เลิกฟื้นฟู จับตา ‘คลัง’ ชิงบอร์ด 4 ตำแหน่ง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากการบินไทยเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564

ล่าสุดหลังจากมีการยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งล่าสุด และรอคำสั่งศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ม.ค.2568 ซึ่งการบินไทยดำเนินการปรับโครงสร้างทุนทั้งในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของการเตรียมนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยได้ปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จทำให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก

รวมทั้งไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

ขณะนี้เหลือเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอรายชื่อตัวแทนเข้ามาเป็นบอร์ด โดยมีกำหนดให้เสนอรายชื่อภายใน 31 ม.ค.นี้

\'การบินไทย\' เคาท์ดาวน์เลิกฟื้นฟู จับตา \'คลัง\' ชิงบอร์ด 4 ตำแหน่ง

ทั้งนี้คาดว่าในช่วงเดือน ก.พ.2568 จะเห็นความชัดเจนของโครงสร้างและรายชื่อบอร์ด ก่อนจะมีการนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งแรกในช่วงเดือน เม.ย.2568 เพื่อลงมติพิจารณาการแต่งตั้งรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทยเพื่อเข้ามาบริหารนโยบายบริษัทหลังออกจากการฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ดี ในฐานะฝ่ายบริหารของการบินไทย ตนมองว่าโครงสร้างบอร์ดที่เหมาะสมและเกิดความคล่องตัวของการบริหารงานนั้น โดยปกติแล้วหลายบริษัทจะมีกรอบจำนวนบอร์ดอยู่ที่ 5-15 คน ขณะที่บอร์ดการบินไทยในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนเต็มกรอบ และส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาครัฐเนื่องจากการบินไทยเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นในขณะนี้ส่วนตัวมองว่าเพื่อบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น จึงไม่ควรมีจำนวนบอร์ดมากเกินไป หรือไม่ควรถึงกรอบกำหนด 15 คน

เปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบอร์ดใหม่

นายชาย กล่าวว่า รายชื่อบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทยนั้น จะมาจากผู้ถือหุ้นเสนอตัวแทนตามสิทธิ์ของสัดส่วนหุ้น ซึ่งในส่วนภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ปัจจุบันหลังปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนอยู่ที่ราว 39% และหากรวมการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะคงสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 48% เบื้องต้นจึงประเมินว่าหากภาครัฐส่งตัวแทนเป็นบอร์ดเต็มจำนวนสิทธิ์นั้น น่าจะอยู่ที่ราว 3-4 คน

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ได้แปลงหนี้เป็นทุนปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้นรวมประมาณ 52% จะมีสิทธิ์ส่งตัวแทนเป็นบอร์ด อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จะได้สิทธิ์ส่งตัวแทน 1 คน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสิทธิ์ส่งตัวแทน 1 คน และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์จะมีสิทธิ์ส่งตัวแทนตามลำดับการถือหุ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *