แม่ตัวสั่นน้ำตาไหล เห็นรูปที่ลูกสาว ม.6 ส่งมาตอนตี 3 บอก “แม่… หนูไม่ไหวแล้ว”
แม่ตื่นขึ้นมา ตัวสั่นทันทีเมื่อเห็นรูปที่ลูกสาวส่งมาตอนตี 3 พอได้อ่านข้อความที่แนบมาด้วย น้ำตาก็ไหลออกมาไม่หยุด
เว็บไซต์ SOHU รายงานว่า เช้าของวันหนึ่งที่อากาศเย็นสบาย ในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน หลิวอวิ๋น คุณแม่ของนักเรียนมัธยมปลาย ชื่อ หลินหยา ตื่นขึ้นเพราะเสียงนาฬิกาปลุก ขณะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เธอสะดุ้งเล็กน้อยเมื่อเห็นข้อความที่ส่งมาตั้งแต่ตี 3 จากลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 ในโรงเรียนมัธยมประจำชื่อดัง และพักอยู่ในหอพักของโรงเรียน
เธอเปิดดูข้อความด้วยใจที่เริ่มไม่สงบ รูปภาพหนึ่งปรากฏขึ้นบนหน้าจอ เป็นภาพมุมโต๊ะอ่านหนังสือของลูก หนังสือกองท่วมโต๊ะ ข้อสอบคณิตศาสตร์ที่ถูกขยำยับเยิน โคมไฟส่องลงบนใบหน้าลูกสาวที่สะท้อนในกระจก ดวงตาแดงก่ำและลึกโหล
ใต้ภาพนั้น มีข้อความสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวว่า “แม่… หนูไม่ไหวแล้ว”
เธอช็อก มือที่ถือโทรศัพท์สั่นระริก ห้องเล็ก ๆ ที่เงียบสงบกลับอึดอัดราวกับไม่มีอากาศให้หายใจ เธอกดโทรหาลูกทันที แต่ไม่มีใครรับสาย เธอรีบโทรหาครูประจำชั้น โทรหาผู้ดูแลหอพัก แล้วก็วิ่งออกจากบ้านในชุดนอนยับย่น ไม่ทันใส่เสื้อคลุม ไม่ได้หยิบกระเป๋าสตางค์ มีเพียงความคิดเดียววนเวียนอยู่ในหัวว่า
“ลูกสาวของฉัน เด็กดีคนนี้ เด็กที่เรียนเก่ง เข้มแข็ง และไม่เคยปริปากบ่นเลยสักคำ ต้องกดดันจนถึงขนาดนี้เชียวหรือ แล้วทำไมไม่มีใครรู้เลย?”
โชคดีที่หลินหย่ายังปลอดภัย เธอนั่งนิ่งอยู่ที่โต๊ะเรียน เหนื่อยล้าเกินกว่าจะพูดอะไรได้ แต่หลังจากคืนนั้น โลกของคุณหลิวก็เหมือนแตกสลายลง เธอเคยภูมิใจมาตลอดที่ลูกสาวขยัน อดทน ไม่เคยบ่นแม้ต้องเผชิญกับตารางเรียนแสนแน่นหนา แต่ตอนนี้เธอเพิ่งเข้าใจว่า บางทีเพราะลูกสาว “ดีเกินไป” เงียบเกินไป จึงไม่มีใครมองเห็นเลยว่าหัวใจของเด็กคนนี้ กำลังค่อย ๆ พังลง
หลินหยาเป็นนักเรียนชั้น ม.6 กำลังเตรียมตัวสอบเกาเข่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่โหดที่สุดของจีน เธอเรียนทั้งวันทั้งคืน เวลาอาหารและการนอนถูกบีบให้สั้นลง เพื่อให้มีเวลาทบทวนบทเรียน ทุกสัปดาห์คือการแข่งขันเก็บคะแนน เป็นการต่อสู้กับเพื่อน และกับตัวเอง แต่สิ่งที่โหดร้ายที่สุดไม่ใช่จำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน หากเป็นแรงกดดันมหาศาลที่มองไม่เห็น
ในประเทศจีน “เกาเข่า” ไม่ใช่แค่การสอบ มันคือ “ประตูชีวิต” สำหรับหลายครอบครัว การสอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำคือหนทางสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าสอบไม่ติด นั่นอาจหมายถึงการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นักเรียนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ต้องพยายามอย่างหนัก ไม่ใช่แค่เรียนให้เก่ง แต่ยังต้อง “ดูเข้มแข็ง” ต้องไม่อ่อนแอ ต้องไม่ทำให้ใครผิดหวัง ดังนั้นพวกเขาจึงมักเก็บความเหนื่อยล้าเอาไว้ในใจ เพราะกลัวจะทำให้ใครเสียใจ
หลังเหตุการณ์นั้น คุณหลิวตัดสินใจลางานเพื่ออยู่กับลูก เธอเริ่มย้อนมองสิ่งที่ผ่านมา คำพูดอย่าง “สู้ ๆ นะลูก”, “อีกนิดเดียวก็จบแล้ว” และ “แม่เชื่อว่าลูกทำได้” ที่เคยคิดว่าเป็นกำลังใจ พอได้ฟังอีกครั้งกลับรู้ว่า บางทีมันอาจเป็นแรงกดดันโดยไม่รู้ตัว
และเธอก็เพิ่งตระหนักว่า เธอไม่เคยถามเลยว่า “ลูกโอเคไหม?”, “เหนื่อยไปหรือเปล่า?” และ “อยากหยุดพักสักวัน ไม่ต้องทำอะไรเลย ได้ไหม?”
เรื่องของหลินหยาไม่ใช่เรื่องเดียวที่เกิดขึ้น ในประเทศจีนยังมีเด็กนักเรียนอีกมากที่กำลังเผชิญกับสภาพจิตใจเช่นเดียวกัน บางคนร้องไห้เพราะคะแนนไม่ดี บางคนไม่กล้านอนเพราะกลัวจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และบางคนเคยคิดอยากจะจากไป เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ
สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งกว่า คือเด็กเหล่านี้มักอยู่ในกลุ่มที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลูกคนอื่นที่แม่ชอบพูดถึง” เรียนเก่ง ว่านอนสอนง่าย ไม่เคยทำให้ผิดหวัง แต่ไม่มีใครถามเลยว่า ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาภาพลักษณ์เหล่านั้นคืออะไร?
หลังคืนนั้น คุณหลิวเปลี่ยนวิธีคุยกับลูก จากเดิมที่เคยถามว่า “วันนี้ทำข้อสอบได้กี่ชุดแล้ว?” กลายเป็น “วันนี้ลูกมีความสุขไหม?”, “มีอะไรอยากเล่าให้แม่ฟังหรือเปล่า?” และ “ถ้ารู้สึกไม่ไหว บอกแม่นะ แม่จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ”
เธอเข้าใจแล้วว่า ไม่มีการสอบไหนจะสำคัญมากพอจนต้องแลกด้วยสุขภาพ จิตใจ หรือแม้แต่ชีวิตของลูก เด็กคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเรียนเก่งแค่ไหน ก็ยังควรมีสิทธิ์ที่จะพัก ร้องไห้ พูดว่า “หนูเหนื่อย” ผิดพลาดได้ และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
ภาพถ่ายของหลินหยา. คือเสียงเตือนใจ ว่าข้างหลังรอยยิ้มเงียบ ๆ ของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง อาจมีภูเขาแห่งความกดดันถาโถมอยู่ และบางครั้ง คำปลอบใจที่ดีที่สุด ไม่ใช่ “อดทนอีกนิดนะ”
แต่คือคำว่า “ลูกหยุดพักได้นะ แม่อยู่ตรงนี้แล้ว”
เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องการมากที่สุด ไม่ใช่แค่ความสำเร็จ แต่คือความรักที่ยังอยู่ แม้ในวันที่เขาไม่เข้มแข็ง